Monthly Archives: May 2015

การฟื้นฟูระบบและพัฒนาคุณค่าเดิมของทุนทางสังคมในชุมชน

15

สังคมไทยมีพื้นฐานวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันแบบช่วยเหลือเกื้อกูลกันมายาวนาน  มีสวัสดิการแบบธรรมชาติที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเอื้ออาทร เคารพซึ่งกันและกันระหว่างคนกับคน และคนกับธรรมชาติ เมื่อสังคมเปลี่ยนแปลงไปบทบาทของชุมชนในการดูแลกันและกันก็ลดลง  แต่หลังจากสังคมไทยประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ส่วนหนึ่งได้ร่วมกันปรึกษาหารือเพื่อร่วมกันฟื้นฟูระบบคุณค่าเดิม ทุนทางสังคมที่มีอยู่มาช่วยเหลือเกื้อกูลกันในลักษณะของการจัดสวัสดิการจากฐานทุนด้านต่าง ๆที่มีอยู่ของชุมชน เช่น สวัสดิการจากฐานกลุ่มออมทรัพย์  องค์กรการเงิน  วิสาหกิจชุมชน ความเชื่อทางศาสนา การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ ในปี 2548 ขบวนองค์กรชุมชนที่ทำงานเกี่ยวกับองค์กรการเงินและสวัสดิการชุมชนได้ยกระดับกองทุนสวัสดิการโดยการริเริ่มจัดตั้งกองทุนสวัสดิการระดับตำบล โดยให้มีการสมทบงบประมาณจากสามฝ่ายคือ ทุนจากการออมสมทบของสมาชิกในชุมชน ทั้งในรูปแบบออมทรัพย์เดิม  หรือสัจจะลดรายจ่ายวันละบาท การสมทบจากรัฐบาลกลางและการสมทบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ปี 2553 ปัจจุบันมีกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล/เมืองทั่วประเทศ 5,500 กองทุน สมาชิกรวม 3.41 ล้านคน

สวัสดิการชุมชนคือ การสร้างหลักประกันเพื่อความมั่นคงของคนในชุมชน ซึ่งหมายรวมถึงทุกอย่างที่จะทำให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งในรูปของสิ่งของ เงินทุน น้ำใจ การช่วยเหลือเกื้อกูล เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นระบบการช่วยเหลือเกื้อกูลของคนในท้องถิ่น ที่มีรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย เป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต  ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ก่อให้เกิดรายได้ลดรายจ่าย นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 ในช่วงแรกเป็นการให้การสนับสนุนเพื่อการจัดตั้ง พัฒนาและสมทบเงินบางส่วน ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา รัฐบาลให้การสนับสนุนโดยสมทบเงินเข้ากองทุนตามจำนวนสมาชิกที่มีอายุครบ 1 ขึ้นไปในอัตราวันละ 1 บาทต่อคนหรือปีละ 365 บาท  และได้มีมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๒๙ มิถุนายน 2553 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)และองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) พิจารณาสมทบงบประมาณกองทุนสวัสดิการชุมชนได้ตามฐานะการคลังของแต่ละ อปท.