Monthly Archives: August 2015

การให้ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาที่ยั่งยืนในชุมชน

โลกาวิวัฒน์ สร้างระบบทุนนิยมโดยใช้กลไกลตลาด เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยเน้นเศรษฐกิจเป็นตัววัดปัจจัยของการเจริญเติบโต และการแสดงว่าประเทศพัฒนาจะใช้รายได้ประชาชาติต่อหัวเป็นตัวตัดสิน ดังนั้นจึงเกิดสิ่งที่เรียกว่าการแข่งขัน การชิงไหวชิงพริบ การแกร่งแย่ง เพื่อให้นำมาซึ่งความร่ำรวยของประเทศตน สิ่งที่เป็นผลพวงตามมาก็คือทรัพยากรของโลกถูกทำลายโดยน้ำมือมนุษย์ เพื่อที่ จะสนองความต้องการ ความยิ่งใหญ่ จนเกิดภาวะเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมและสภาพจิตใจ และเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะปัญหาสภาพแวดล้อม เช่น การเกิดมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม การเกิดภัยธรรมชาติ เนื่องจากมนุษย์บุกรุกทำลายป่าปัญหาสังคม ยาเสพติด อาชญากรรม และตามมาด้วยโรคภัยไข้เจ็บอีกมากมาย แม้แต่ประเทศไทยเอง ก็ได้รับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาใช้ในการดำรงชีวิตไม่ว่าจะเป็นการบริโภค การแต่งกาย ความเป็นอยู่ บนพื้นฐานของความฟุ่มเฟือยหรูหรา นิยมวัตถุจนเกิดเป็นวัฒนธรรมบริโภคนิยม วัตถุนิยมส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม จริยธรรม คุณธรรม จนสภาพสังคมไทยตกอยู่ในสภาพเลวร้าย วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณีอันดีงามที่บรรพบุรุษสั่งสมไว้แทบจะไม่หลงเหลือให้ชื่นชม คนไทยเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว สังคมที่มีมิตรไมตรีความเอื้ออาทรต่อกันเหลือน้อยเต็มทน เพราะต้องแข่งขัน แกร่งแย่งเพื่อความอยู่รอด รัฐบาลเองก็บริหารประเทศโดยใช้ระบบทุนนิยม มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนจากต่างประเทศใช้เงินมากมายในการที่จะต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เป็นการก่อหนี้จำนวนมหาศาล ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย เพราะต้องนำไปในการพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม รัฐบาลให้ความสำคัญกับภาคเกษตรที่ถือเป็นหัวใจและสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่บรรพกาลน้อยมาก ประเทศจึงมีสภาพเศรษฐกิจที่คลอนแคลนไม่มั่นคง ไม่สามารถยืนบนขาตัวเองได้ เพราะต้องพึ่งพาต่างประเทศ ถ้าคนไทยยังคงอยู่ในสภาพนี้ต่อไปก็คงจะถึงเวลาที่ประเทศจะต้องประสบภัยความ ล่มสลาย ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้เล็งเห็นถึงสิ่งเหล่านี้ จึงได้สร้างทฤษฎีใหม่ขึ้นมา คือ เศรษฐกิจพอเพียงโดยทรงเน้นย้ำแนวทางแก้ไขเพื่อให้ประเทศรอดพ้นและยื่นหยัดภายใต้กระแสโลกาวิวัฒน์ และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคง เพื่อเป็นหนทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

เศรษฐกิจพอเพียง
เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้ถึงแนวทางการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกระดับ ไม่ว่าจะในระดับครอบครัว ชุมชน หรือ รัฐ ในการปฏิบัติงานหรือบริหารพัฒนาประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง มีความพอประมาณ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่ประมาท มีเหตุผล และสร้างระบบภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบต่าง ๆ อันอาจจะเกิดขึ้นจากภายนอกและภายในอย่างรอบคอบ ในขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนให้มีความสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์ และความรอบรู้ที่เหมาะสม การดำเนินชีวิตควรใช้ความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงจากสภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี การดำรงชีวิตและปฏิบัติตนมุ่งเน้นการอยู่รอดปลอดภัย และวิกฤต สร้างความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา