การส่งเสริมอาชีพประมงในชุมชน

di5h7hgbckaa6jf7ic8jbวัฒนธรรมการบริโภคปลาเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของคนในลุ่มแม่น้ำที่บ่งบอกถึงวิถีการดำรงชีวิตภายใต้การปรับตัวให้สอดคล้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การที่คนในลุ่มแม่น้ำอาศัยปลาเป็นอาหารเพื่อการยังชีพในสำรับเกือบทุกมื้อ ร่วมกับอาหารและผักชนิดต่างๆที่ได้จากท้องถิ่นในยุคเศรษฐกิจพอเพียงและการพึ่งพา แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปลาต่อวิถีชีวิต นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการบูรณาการทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนได้อย่างลงตัว รูปแบบและวิธีการประกอบอาหารที่ทำขึ้น เช่น การประกอบอาหารโดยการทำให้สุกโดยการใช้ความร้อน อาหารหมัก และการบริโภคอาหารที่ทำจากปลาโดยวิธีการกินดิบ ยังสามารถบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ในมิติทางสังคมของคนในชุมชน เพราะกระบวนการประกอบอาหารแต่ละชนิด รวมถึงโอกาสในการบริโภคนั้นสะท้อนการมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของคนในลุ่มแม่น้ำได้เป็นอย่างดี

การทำประมงชายฝั่งของประเทศไทยได้มีการพัฒนามายาวนาน ชาวประมงได้ทำการประมงหลากหลายชนิด และใช้เครื่องมือประมงหลายประเภททำการประมง เช่น แห อวน โพงพาง อวนรุน เป็นต้น ซึ่งเครื่องมือประเภทต่างๆได้พัฒนาให้สามารถจับสัตว์น้ำได้มากขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันพบว่าสัตว์น้ำเกือบทุกชนิดที่จับได้นั้นเป็นการจับเกินกำลังการผลิตของธรรมชาติที่จะเอื้ออำนวยให้เกิดการทดแทนได้ทัน มีการทำประมงมากเกินควร การจับสัตว์น้ำที่ยังไม่โตเต็มวัยมาใช้ประโยชน์ การจับสัตว์น้ำในฤดูวางไข่และเลี้ยงตัวอ่อน นอกจากนั้นยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องมือประมงเพื่อให้จับสัตว์น้ำให้ได้ปริมาณขึ้น มีผลโดยตรงต่อการทำลายพันธ์สัตว์น้ำวัยอ่อน การลดปริมาณสัตว์น้ำ รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการรบกวนและทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย ขยายพันธ์ และอนุบาลสัตว์น้ำส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำ เกิดปัญหาความขัดแย้งของชาวประมงที่ใช้เครื่องมือประเภทต่างกัน

การที่ชุมชนสามารถยืดหยัดดำรงอยู่และพัฒนาไปได้ท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกรากของโลกาภิวัฒน์ที่โหมกระหน่ำเข้ามาอย่างรวดเร็วและรุนแรงต่อเนื่อง จนสามารถข้ามพ้นเขตปัญหาต่างๆเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เอาใจใส่ ขณะเดียวกันก็ได้เกิดข้อที่น่าวิตกกังวลในเรื่องความยั่งยืนของความเป็นชุมชนว่าจะพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ข้ามพ้นยุคสมัยแห่งกาลเวลาได้หรือไม่อย่างไร หากไร้ผู้สืบทอด เนื่องจากสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ในขณะนี้ได้ดึงดูดคนเข้าสู่กระแสหลักของการพัฒนาที่เน้นเงินเป็นหลัก ระบบการศึกษาก็สร้างคนเพื่อเข้าสู่ระบบทุนนิยม โดยห่างหายจากชุมชนออกไปทุกที คนรุ่นใหม่ของชุมชนจึงอยู่กับความเป็นชุมชนดั้งเดิมไม่ได้ ข้อวิตกกังวลต่อความยั่งยืนของความเป็นชุมชนจึงกลายเป็นปัญหาที่ท้าทายอย่างมาก